ย้อนอดีต..กว่าจะมาเป็นสยามสแครว์

สยามสแครว์เป็นแหล่งทำเลที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่นมาร่วมกว่า 50 ปีและเป็นที่ดินที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่มีใครรุ้บ้างว่าสยามสแควร์มีความเป็นมาอย่างไรบ้าง ? วันนี้เราจะพาไปย้อนอดีตกัน

พื้นที่สยามสแควร์เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ในปี 2507 โดยพลเอก ประภาส จารุเสถียร โดยตั้งใจว่าจะพัฒนาที่ดินนี้เป็นศูนย์การค้าแบบเต็มรูปแบบ ในตอนแรกพื้นที่นี้ถูกออกแบบเป็นอาคารพาณิชย์จำนวน 550 คูหา ประกอบไปด้วย โรงภาพยนต์ ลานโบว์ลิ่ง และลานไอซ์สเก็ต โดยถือได้ว่าเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น

ชื่อเดิมของ สยามสแควร์ คือ “ปทุมวันสแควร์” ทำให้โครงการศูนย์การค้าที่เพิ่งสร้างใหม่ในระแวก จึงตั้งชื่อให้สอดคล้องกัน อาทิ สยามเซ็นเตอร์ และ โรงแรมสยามอินเตอร์-คอนติเนนตัล

ธุรกิจที่อยู่ในสยามในขณะนั้นส่วนใหญ่เป็น ร้านหนังสือ ร้านเสื้อผ้า ร้านตัดผม และโรงภาพยนต์ โดยโรงหนังที่มีชื่อเสียงและเป็นแหล่งรวมวัยรุ่นในตอนนั้นคือ สยาม ลิโด และสกาล่า

ต่อมาประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2516 หรือเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้กระแสของสยามสแควร์หายไประยะหนึ่ง

ในปี 2528 ศูนย์การค้ามาบุญครองเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ นับเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในยุคนั้น ก่อนจะมีการเปลี่ยนชื่อเป็น MBK Center ในปี 2543

ในปี 2540 ประเทศไทยประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” จึงเริ่มมีการเก็บค่าเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก หลายๆ ร้านเริ่มปรับเปลี่ยนธุรกิจ

ในปีเดียวกัน สยามดิสเวอรี่ เปิดตัวให้บริการเช่นเดียวกัน

เพื่อปรับตัวและทําให้สยามสแควร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง จึงมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณสยามสแควร์ซอย 4 ให้เป็นศูนย์รวมวัยรุ่น มีลานกิจกรรมและลานน้ำพุ โดยเรียกว่า “เซ็นเตอร์พอยท์” เริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดให้บริการ เมื่อมีรถไฟฟ้าทำให้สยามสแควร์กลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางและเข้าถึงได้สะดวกมากขึ้น

ในช่วงนี้สถานที่โดยรอบสยามสแควร์มีการปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น มีห้างใหม่อย่างสยามดิสคัฟเวอรี่ ศูนย์การค้ามาบุญครองก็ปรับปรุงครั้งใหญ่และเปลี่ยนชื่อเป็นเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ ส่วนโรงแรมสยามอินเตอร์-คอนติเน็นตัลถูกรื้อถอนออกแล้วพัฒนาเป็นศูนย์การค้าสยามพารากอนเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2548 เมื่อการเดินทางสะดวกมากขึ้นจากรถไฟฟ้าและเป็นแหล่งรวมศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง ประกอบกับมีร้านค้าร้านอาหารจำนวนมาก ทำให้ย่านสยามสแควร์กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าช่วงนี้เป็นจุดเปลี่ยนของสยามสแควร์อย่างแท้จริง

ผ่านมาถึงปี 2553 สยามสแควร์ต้องเผชิญกับบทพิสูจน์อีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมืองขึ้นจนนำไปสู่การสลายการชุมนุม เมื่อเหตุการณ์สงบลง บริเวณโรงภาพยนตร์สยามและพื้นที่โดยรอบได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จนต้องทุบทิ้งทั้งหมด หลังจากนั้นจึงได้พัฒนาพื้นที่ใหม่เป็น “สยามสแควร์วัน” เปิดให้บริการในปี 2557

ปัจจุบันสยามสแควร์มีร้านค้ามากกว่า 4,000 ร้าน มีจำนวนคนเดินวันละกว่า 20,000 คน และอาจถึง 50,000 คนในวันหยุด ซึ่งสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังวางแผนพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการปรับภูมิทัศน์ นำสายสื่อสารและสายไฟทั้งหมดลงดินเพื่อให้มีความเป็นระเบียบมากขึ้น ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคใหม่ รวมไปถึงโครงการ “สยามสเคป” (SIAMSCAPE) ที่พัฒนาบนพื้นที่ห้างโบนันซ่าเก่าเป็นอาคาร Mixed use สูง 24 ชั้น ประกอบไปด้วย พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ อาคารสำนักงาน และร้านค้า นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะรวบรวมโรงเรียนกวดวิชาจากตึกแถวในสยามสแควร์มาไว้ที่นี่ด้วย เพราะในปี พ.ศ.2565 สยามสแควร์จะเปิดเป็น walking street เต็มรูปแบบ

ถึงแม้สยามสแควร์จะอยู่มานานกว่า 50 ปี แล้ว จนเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของแหล่งรวมวัยรุ่นทุกยุคสมัย วันนี้หลายสิ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สถานที่ยอดนิยมในช่วงเวลาหนึ่งของผู้คนมากมายเหลือไว้เพียงความทรงจำ สลับกับธุรกิจรายใหม่ที่เปิดตัวหมุนเวียนกันไป แต่ด้วยการพัฒนาธุรกิจอย่างไม่หยุดนิ่ง สยามแสควร์ก็คงเป็นศูนย์กลางของวัยรุ่นต่อไปอีกนาน

ที่มา : www.blockdit.com
รูป : Catdumb.tv, Yubabuy, Wikipedia